วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

Scenario Analysis

What is Scenario Analysis ???


              จากคลิปวีดีโอนี้และจากการค้นคว้าใน Wikipedia  ทำให้ดิฉันเข้าใจคำว่า  "Scenario Analysis"  มากขึ้น  กล่าวคือ  Scenario Analysis หรือ การวิเคราะห์สถานการณ์ คือ  กระบวนการสำหรับวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตที่เป็นไปได้ โดยการพิจารณาจากสถานการณ์ในทางเลือกที่เป็นไปได้   โดยสถานการณ์นั้นสร้างขึ้นมาโดยอาศัยโครงเรื่อง (plot) ที่มาจากแนวโน้ม (trends) ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันและความไม่แน่นอน (uncertainties) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต สถานการณ์จึงมีได้หลายสถานการณ์ขึ้นอยู่กับชุดแนวโน้มและความไม่แน่นอนที่เลือกมาประกอบกันเป็นโครงเรื่อง เราจะเลือกโครงเรื่องที่แตกต่างกันและครอบคลุมเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตให้มากที่สุดโดยทั่วไปประมาณ 3-4 โครงเรื่อง ดังนั้น สถานการณ์คือ ภาพรวมเหตุการณ์ในอนาคตที่เป็นจริงได้ (possible) และเกี่ยวข้องกับประเด็นที่อยู่ในความสนใจ (relevant) แต่ละภาพจะเป็นการดำเนินเรื่องเล่าที่ไม่มีการขัดแย้งภายใน และมีทั้งเหตุการณ์ที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ กระบวนการสร้างสถานการณ์จะกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้กล้าคิดนอกกรอบปัจจุบัน กล้าหาวิธีการใหม่ในการแก้ไขปัญหาเดิม การสร้างสถานการณ์เป็นการซักซ้อมอนาคตให้เข้าใจถึงผลการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงผลักดันต่างๆ ซึ่งอาจเสริมกันหรือหักล้างกัน ซึ่งอาจชักนำให้เกิดการตัดสินในในประเด็นที่คั่งค้างอยู่ในใจมานาน และทำให้สามารถวางแผนกลยุทธ์ที่รอบคอบกว่าเดิม
            การเขียนสถานการณ์มิใช่เป็นการทำนายอนาคต (forecasting) สถานการณ์ที่ดีจึงมิได้อยู่ที่ว่าจะสามารถบรรยายอนาคตได้ถูกต้องเพียงใด แต่อยู่ที่ว่าจะสามารถชักนำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีกว่าเดิมหรือไม่ การเขียนสถานการณ์มีสมมติฐานว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่มีใครทำนายได้ จึงพยายามสร้างสถานการณ์หลายภาพ เพื่อให้ครอบคลุมอนาคตที่เป็นไปได้ให้มากที่สุด อนาคตยิ่งไกลออกไปก็ยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้น การเขียนสถานการณ์จึงเหมาะสำหรับการมองอนาคตระยะกลางและระยะยาว ที่ไม่สามารถใช้การวางแผนเชิงกลยุทธ์โดยทั่วไปได้ เพราะขาดข้อมูลที่มีความชัดเจนพอ รวมทั้งปัญหาที่ซับซ้อนและไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว หรือผู้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ (stakeholders) มีหลากหลายและอาจมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ในการนี้ การเขียนสถานการณ์ระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มีข้อดีที่ทำให้ผู้เข้าร่วมระดมความคิดสามารถหยุดคิดถึงผลประโยชน์ส่วนบุคคลในปัจจุบันและกล้าคิดในสิ่งที่ปัจจุบันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าในอีก 10 ปี ทุกคนจะไม่อยู่ในตำแหน่งเดิม หลายสิ่งจะเปลี่ยนไป ผู้เข้าร่วมระดมความคิดจึงมีอิสระที่จะวางแผนสำหรับคนรุ่นต่อไปได้

ความคิดเห็นของดิฉัน

                            ดิฉันคิดว่า Scenario Analysis เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางเป้าหมายของกิจการในอนาคตและการประเมินสถานการณ์ในมิติต่างๆ   เพื่อจะได้มีการวางแผนป้องกันสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ในอนาคต   หากบริษัทไม่นำ Scenario Analysis มาใช้  บริษัทก็จะไม่สามารถที่จะคาดการณ์เหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้  ส่งผลให้ไม่สามารถวางแผนการดำเนินงานในระยะยาวได้ว่าบริษัทจะไปในทิศทางใด  และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น  เนื่องจากไม่ได้เตรียมวิธีการแก้ไขไว้ล่วงหน้า  ทำให้บริษัทอาจประสบปัญหาในการดำเนินงานในอนาคตจนนำไปสู่ภาวะขาดทุนได้ แต่หากบริษัทมีการทำ Scenario Analysis  ก็จะทำให้บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น  เนื่องจากมีการเตรียมวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพไว้ล่วงหน้าแล้ว  ส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะสามารถปรับตัวได้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

ตัวอย่างความสำเร็จของการใช้ Scenario Analysis ที่มักมีผู้กล่าวขานถึง ได้แก่  กรณีของบริษัทเชลล์ ซึ่งได้ตัดสินใจวาดสถานการณ์ภาวการณ์น้ำมันในตลาดโลก ณ เวลาที่น้ำมันในขณะนั้นมีราคาคงที่ มิได้มีวิกฤตการณ์ใดๆ มาบีบบังคับให้บริษัทจำเป็นต้องเร่งวาดสถานการณ์แต่อย่างใด น้ำมันในตลาดโลกมีราคาคงตัวอยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่องมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ราคาน้ำมันที่ค่อนข้างคงตัวนี้เองที่ทำให้บริษัทน้ำมันรายอื่นๆ มิได้ใส่ใจกับการเตรียมการการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใดเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม บริษัทเชลล์ได้คิดถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบรุนแรงต่อสถานการณ์น้ำมันโลก หากกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก (OPEC) มีท่าทีเปลี่ยนแปลง มีความขัดแย้ง หรือในทางตรงกันข้ามอาจรวมหัวกันขึ้นราคาน้ำมันเพื่อบีบลูกค้า กลุ่มพนักงานของบริษัทเชลล์ที่ได้รับมอบหมายให้มองอนาคตได้วาดสถานการณ์ไว้ 2 ภาพ ภาพแรกเป็นภาพเหตุการณ์ราคาน้ำมันคงที่ ธุรกิจซื้อขายน้ำมันดำเนินไปตามปกติ ภาพที่สองเป็นภาพที่ OPEC รวมหัวกันขึ้นราคาน้ำมัน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในปี ค.ศ. 1973 บริษัทเชลล์สามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดี และได้ขยับตัวจากการเป็นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่อันดับ 7 ของโลก ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ได้และมีกำไรสูงสุด นอกจากนี้ บริษัทเชลล์ยังได้คาดการณ์การล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในรัสเซียและตัดสินใจไม่เข้าไปลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่บริษัทน้ำมันรายอื่นๆ หลายรายต่างเข้าไปลงทุนกัน เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น บริษัทน้ำมันต่างๆ ต้องเผชิญกับความวุ่นวาย และยังขาดทุนจากการลงทุนในรัสเซียด้วย จะเห็นได้ว่าการมองอนาคตของบริษัทเชลล์ให้ผลที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมาก  (อ้างอิงจาก Wikipedia : scenario planning)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น